เที่ยวมรดกโลก ตามรอยประวัติศาสตร์ ณ อาณาจักรสุโขทัย ราชธานีแห่งแรกของประเทศไทยที่ควรค่าแก่การมาสัมผัส! พลาดไม่ได้กับการชมความงามพร้อมถ่ายรูปดื่มด่ำอดีตอันรุ่งเรืองของโบราณสถาน วัด เจดีย์ต่าง ๆ กับบรรยากาศอันรื่นรมย์
จังหวัดสุโขทัย เต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก สะท้อนให้เห็นถึงอารยธรรมอันรุ่งเรืองและความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งเป็นอดีตราชธานี อาณาจักรที่เต็มไปด้วยมนต์ขลังและมีเอกลักษณ์ ที่ยังคงหลงเหลือให้คนรุ่นหลังได้อนุรักษ์สืบสานต่อไป จังหวัดสุโขทัยมีกิจกรรมท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย ได้แก่ เทศกาลชมดอกดาวเรืองบานสะพรั่งที่ทุ่งดอกดาวเรืองบ้านปากแคว ใกล้ชิดธรรมชาติและอารยธรรมล้านนาที่อำเภอทุ่งเสลี่ยม ตื่นตาตื่นใจไปกับเครื่องสังคโลก ซึ่งเป็นวัฒนธรรมเชิงหัตถศิลป์อันทรงคุณค่าที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานของเมืองศรีสัชนาลัย พร้อมเที่ยวละเล่นชมความสวยงามตระการตาของการแสดงในงานเผาเทียนเล่นไฟในช่วงเทศกาลลอยกระทง ส่วนในวันนี้น้องชิลจะพาทุกท่านไป เที่ยวหนึ่งวันกับเมืองมรดกโลก.. ปั่นจักรยานชมความงาม "อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย" กันค่ะ อุทยานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก ในปี พ.ศ. 2534 ภายในจะสวยงามและทรงคุณค่าแค่ไหนนั้น ตามน้องชิลมาดูกันเลยค่ะ!
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ราชธานีแห่งแรกของไทย ตั้งอยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง ห่างจากตัวจังหวัดสุโขทัยไปทางทิศตะวันตกประมาณ 12 กิโลเมตร ถนนจรดวิถีถ่อง ทางหลวงหมายเลข 12 สายสุโขทัย-ตาก ในอดีตนั้นอาณาจักรสุโขทัยมีความยิ่งใหญ่และเจริญรุ่งเรือง เป็นศูนย์กลางการปกครอง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและศาสนา เป็นที่ตั้งของพระราชวังและศาสนสถานเก่าแก่ โดยมีคูเมืองและกำแพงเมืองโบราณล้อมรอบ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 70 ตารางกิโลเมตร ในรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ภายในอุทยานยังพบร่องรอยของพระราชวังและวัด ซึ่งมีโบราณสถานสำคัญที่มีจำนวนมากกว่า 30 แห่ง
![]() |
พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช (King Ramkhamhaeng Monument) สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2518 ตั้งอยู่ริมถนนจรดวิถีถ่อง ทางทิศเหนือของวัดมหาธาตุ ลักษณะพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นพระบรมรูปหล่อด้วยโลหะทองเหลืองผสมทองแดงรมดำ ขนาด 2 เท่าขององค์จริง สูง 3 เมตร ประทับนั่งห้อยพระบาทบนแท่นมนังคศิลาบาตร พระหัตถ์ขวาถือคัมภีร์ พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในท่าทรงสั่งสอนประชาชน แท่นด้านซ้ายมีพานวางพระขรรค์ไว้ข้าง ๆ ลักษณะพระพักตร์เหมือนอย่างพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยตอนต้น ที่ถ่ายทอดความรู้สึกว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีน้ำพระทัยเมตตากรุณา ยุติธรรม มีความเด็ดขาดในการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ที่ด้านข้างมีภาพแผ่นจำหลักจารึกเหตุการณ์เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระองค์ตามที่อ้างถึงในจารึกสุโขทัย
![]() |
![]() |
![]() |
วัดมหาธาตุ (Wat Mahathat) ตั้งอยู่กลางเมือง เป็นวัดใหญ่และวัดสำคัญของกรุงสุโขทัย มีพระเจดีย์มหาธาตุทรงดอกบัวตูม หรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นศิลปะแบบสุโขทัยแท้ ตั้งเป็นเจดีย์ประธาน ล้อมรอบด้วยเจดีย์ 8 องค์ บนฐานเดียวกัน คือ ปรางค์ศิลาแลงตั้งอยู่ที่ทิศทั้ง 4 และเจดีย์ทรงปราสาทก่อด้วยอิฐที่ได้รับอิทธิพลมาจากล้านนา จากการสำรวจ พบว่าบริเวณวัดมหาธาตุมีเจดีย์แบบต่าง ๆ มากถึง 200 องค์ วิหาร 10 แห่ง ซุ้มพระ (มณฑป) 8 ซุ้ม พระอุโบสถ 1 แห่ง ตระพัง 4 แห่ง ด้านตะวันออกบนเจดีย์ประธานมีวิหารขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง มีแท่นซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ พระศรีศากยมุนี ปัจจุบันได้รับการเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่วัดสุทัศน์ฯ กรุงเทพมหานคร ที่ด้านเหนือและด้านใต้ของเจดีย์มหาธาตุมีพระพุทธรูปยืนภายในซุ้มพระ เรียกว่า "พระอัฏฐารศ"
![]() |
![]() |
![]() |
วัดชนะสงคราม (Wat Chana Songkhram) ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของวัดมหาธาตุในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ใกล้กับหลักเมือง เดิมเรียกว่า วัดราชบูรณะ มีลักษณะเด่นคือ เจดีย์ทรงระฆังกลมขนาดใหญ่เป็นเจดีย์ประธาน มีวิหารที่ปรากฎเฉพาะส่วนของเสาศิลาแลง อุโบสถและใบเสมาบางส่วน รวมถึงเจดีย์รายทรงวิมานสององค์ซึ่งพบที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเช่นกัน
![]() |
![]() |
![]() |
วัดสระศรี (Wat Sa Si) เป็นวัดที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดมหาธาตุ และเป็นโบราณสถานสำคัญตั้งอยู่บนเกาะกลางน้ำขนาดใหญ่ ชื่อว่า ตระพังตระกวน นอกจากนี้ยังเป็นวัดที่มีจุดชมทัศนียภาพสวยงามมากแห่งหนึ่ง สิ่งที่น่าชมในวัดนี้คือ เจดีย์ประธานทรงลังกา ด้านหน้าวิหารขนาดใหญ่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย มีเจดีย์ขนาดเล็ก ศิลปะศรีวิชัยผสมลังกา ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ มีซุ้มพระพุทธรูป 4 ทิศ ด้านหน้ามีเกาะกลางน้ำขนาดย่อมเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถขนาดเล็ก
![]() |
![]() |
วัดตระพังเงิน (Wat Tra Phang Ngoen) เป็นโบราณสถานสำคัญที่ตั้งอยู่บริเวณขอบตระพังเงินด้านทิศตะวันตกของวัดมหาธาตุ (คำว่า ตระพัง หมายถึง สระน้ำ) ห่างจากวัดมหาธาตุ 300 เมตร โบราณสถานนี้ไม่มีกำแพงแก้ว ประกอบด้วยเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรือทรงดอกบัวตูมเป็นประธาน ที่เรือนธาตุทั้งสี่ด้านประดิษฐานพระพุทธรูปยืนและพระพุทธรูปปางลีลา มีวิหารประกอบอยู่ด้านหน้า เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทางด้านตะวันออกของเจดีย์เป็นเกาะที่มีโบสถ์ตั้งอยู่กลางน้ำ
![]() |
![]() |
![]() |
วัดศรีสวาย (Wat Si Sawai) ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของวัดมหาธาตุ ห่างออกไปประมาณ 350 เมตร โบราณสถานที่สำคัญตั้งอยู่ในกำแพงแก้ว ประกอบด้วยปรางค์ 3 องค์ รูปแบบศิลปะลพบุรี ลักษณะของปรางค์ค่อนข้างเพรียว ตั้งอยู่บนฐานเตี้ย ๆ ลวดลายปูนปั้นบางส่วนเหมือนลายบนเครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์หยวน ได้พบทับหลังสลักเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ ชิ้นส่วนของเทวรูป และศิวลึงค์ที่แสดงให้เห็นว่าเคยเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูมาก่อน แล้วแปลงเป็นพุทธสถานโดยต่อเติมวิหารขึ้นที่ด้านหน้า แล้วเป็นวัดในพุทธศาสนาภายหลัง
![]() |
![]() |
วัดพระพายหลวง (Wat Phra Phai Luang) เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่มีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากวัดมหาธาตุ ผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคูน้ำล้อมรอบ 3 ชั้น คูชั้นนอกเรียกว่า คูแม่โจน วัดพระพายหลวงเป็นศูนย์กลางของชุมชน โบราณสถานทเก่าแก่ที่สุดของวัด คือ พระปรางค์ 3 องค์ เป็นปรางค์ประธานของวัด ก่อด้วยศิลาแลง ศิลปะเป็นเขมรแบบบายน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ด้านหน้าของวัดเป็นอาคารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น 4 อิริยาบถ คือนั่ง นอน ยืน เดิน
![]() |
![]() |
![]() |
วัดศรีชุม (Wat Si Chum) เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่ซึ่งมีนามว่า "พระอจนะ" ที่ร่ำลือกันว่าเป็นพระพูดได้สันนิษฐานกันว่าวัดศรีชุมสร้างตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชและกลายเป็นวัดร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายกระทั่ง พ.ศ. 2495 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีโครงการบูรณปฏิสังขรณ์เสียใหม่ วัดศรีชุมมีพระประธานองค์ใหญ่ที่อยู่ภายในมณฑป ซึ่งต่างจากวัดทั่วไปที่พระประธานมักอยู่ในโบสถ์ ร่องรอยภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่มณฑปแม้จะลบเลือนไปมากแล้วแต่ก็ยังเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความสวยงามยิ่งใหญ่ของวัดศรีชุม ในอดีตวัดนี้เป็นสถานที่พบศิลาจารึกหลักที่ 2 หรือศิลาจารึกวัดศรีชุม โดยรวมแล้ววัดศรีชุมจึงเป็นอีกวัดหนึ่งที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่งอีกทั้งยังมีความสวยงามของศิลปะสมัยสุโขทัยที่แสดงออกผ่านองค์พระมณฑปเสาวิหารต่าง ๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่จึงเป็นสถานที่ซึ่งน่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสุโขทัย
![]() |
![]() |
![]() |
วัดช้างรอบ (Wat Chang Rop) อยู่ห่างจากประตู้อ้อไปทางทิศตะวันตกประมาณ 2.4 กิโลเมตร มีโบราณสถานที่สำคัญประกอบด้วย เจดีย์ทรงกลมแบบลังกา ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีช้างโผล่ครึ่งตัว มีจำนวน 24 เชือก พระอุโบสถอยู่ด้านหน้าเจดีย์ประธาน และมีเจดีย์ราย 5 องค์ ล้อมรอบเจดีย์ประธาน และโบสถ์
![]() |
วัดสะพานหิน (Wat Saphan Hin) วัดนี้ตั้งอยู่บนเนินเขา สูงประมาณ 200 เมตร บริเวณทางเดินขึ้นโบราณสถานมีทางเดินปูลาดด้วยหินชนวนจากตีนเขาขึ้นไปเป็นระยะทาง 300 เมตร สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่ พระประธานเป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระปางประทานอภัย สูง 12.50 เมตร เรียกว่า "พระอัฏฐารศ"
![]() |
วัดเชตุพน (Wat Chetuphon) มีศิลปกรรมที่น่าสนใจของวัดคือ มณฑปที่สร้างด้วยหินชนวน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสี่อิริยาบท คือนั่ง นอน ยืน เดิน ภายในมณฑปเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโดยมีการใช้วัสดุทั้งอิฐ หินชนวน ศิลาแลง ในการก่อสร้าง สิ่งที่น่าชมภายในวัด คือ กำแพงแก้วที่ล้อมรอบมณฑปจตุรมุขนี้สร้างจากหินชนวนที่มีขนาดใหญ่ และหนา โดยมีการสกัด และบากหินเพื่อทำเป็นกรอบ และซี่กรงเลียนแบบเครื่องไม้ และยังได้พบศิลาจารึกที่วัดนี้หลักที่ 58 จารึกในปี พ. ศ. 2057 กล่าวว่าเจ้าธรรมรังสีสร้างพระพุทธรูปในวัดนี้
![]() |
![]() |
วัดเจดีย์สี่ห้อง (Wat Chedi Si Hong) ตั้งอยู่ทางตะวันออกของวัดเชตุพน ห่างไปประมาณ 100 เมตร โบราณสถานที่น่าสนใจ คือ ที่ฐานเจดีย์ประธานมีภาพปูนปั้นประดับโดยรอบปั้นเป็นรูปบุคคล รูปบุรุษ และสตรี สวมอาภารณ์ และเครื่องประดับ ในมือถือภาชนะ มีพรรณพฤกษางอกโผล่พ้นออกมาที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนั้นมีปูนปั้นรูปช้าง และสิงห์ประดับรูปบุคคล องค์เจดีย์ประธานเป็นทรงระฆังกลมที่ได้รับการบูรณะ ส่วนยอดเจดีย์ได้หักพังลง
![]() |
![]() |
วัดช้างล้อม (Wat Chang Lom) เป็นโบราณสถานที่สำคัญ มีเจดีย์ทรงกลมแบบลังกาเป็นประธานของวัด รอบฐานเจดีย์ประดับด้วย ปูนปั้นเป็นรูปช้างโผล่ครึ่งตัว ด้านหน้ามีฐานวิหารก่อด้วยอิฐ และยังมีฐานกำแพงแก้วก่อด้วยอิฐล้อมรอบ
![]() |
วัดตระพังทองหลาง (Wat Tra Phang Thong Lang) อยู่ริมถนนจรดวิถีถ่อง หากเดินทางมาจากจังหวัดสุโขทัยวัดตระพังทองหลางอยู่ริมซ้ายมือ ศิลปกรรมที่สำคัญคือ มณฑปรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสก่อด้วยอิฐ ผนังด้านนอกประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ ตอนประทานเทศนาโปรดพระพุทธบิดากับกษัตริย์ศากยราช และตอนเสด็จโปรดนางพิมพา นับเป็นศิลปกรรมชิ้นเอกของสุโขทัย
ค่าเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย: สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทย 10 บาท และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 40 บาท หรือสามารถซื้อตั๋วรวมได้ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท โดยบัตรนี้สามารถเข้าชมอุทยานฯ ต่าง ๆ ในจังหวัดสุโขทัยได้ภายในระยะเวลา 30 วัน
เวลาเปิด-ปิด ทำการ: เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-21.00 น. (ปิดจำหน่ายบัตรเวลา 18.00 น.) ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.00-21.00 น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กรณีเข้าชมเป็นหมู่เป็นคณะและต้องการวิทยากรนำชม ติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
ที่ตั้ง: ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย 64210
ครบแล้วสำหรับไฮไลท์สถานที่สำคัญ ๆ ภายในอุทยานฯ เป็นอย่างไรกันบ้างคะ? กับ โปรแกรมเที่ยวหนึ่งวันกับเมืองมรดกโลก.. ปั่นจักรยานชมความงาม "อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย" ที่น้องชิลนำมาฝากทุกท่านกันในวันนี้ หนึ่งวันสำหรับทริปนี้เพียงพอกันไหมเอ่ย? จริง ๆ แล้วยังมีวัดและโบราณสถานอีกมากมายภายในอุทยานฯ แห่งนี้นะคะ ทั้งในเขตกำแพงเมืองและนอกกำแพงเมือง ที่น้องชิลอยากนำข้อมูลมาฝากให้ครบทุกสถานที่ ตอนที่น้องชิลไปครั้งแรกก็รู้สึกประทับใจ ชื่นชอบในประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรมมาก ๆ เลยค่ะ ที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองในอดีต จนอยากจะกลับไปอีกสักครั้ง วันหยุดนี้! ไม่รู้จะไปที่ไหน ลองมาสัมผัสบรรยากาศเมืองเก่าที่มีเสน่ห์และทรงคุณค่านี้ดูนะคะ รับรองว่าคุ้มค่าแก่การมาเยือนแน่นอนค่ะ
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : Amazing Thailand, Thailand Tourism Directory