Loading...

เที่ยวไปกับ ชิล สแควร์ ทราเวล
 เพื่อนเที่ยวเพื่อนคุณ 

Call Center : 094-545-3095

อัปเดต !! สถานที่ทำพาสปอร์ตกรุงเทพฯ - ปริมณฑล และการเตรียมตัว 2020/2563

26 มิ.ย. 2563

ไทย เรื่องน่ารู้

ท่านใดต้องการจะเดินทางท่องเที่ยวที่ต่างประเทศนอกจากการจองตั๋ว การจัดกระเป๋า หรือแพลนท่องเที่ยวที่สำคัญแล้ว “พาสปอร์ต” ก็เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่นักท่องเที่ยวอย่างเรา ๆ ขาดไม่ได้เลยนะคะ เพราะพาสปอร์ตเป็นสิ่งที่ใช้ยืนยันตัวตนเมื่อเราอยู่ต่างประเทศนั่นเองค่ะ แต่สำหรับท่านที่ไม่เคยเดินทางต่างประเทศอาจจะพบกับความกังวลใจว่าจะไปทำที่ไหนดีนะ ? หรือต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง ? น้องชิลได้ทำการรวบรวมข้อมูลอัปเดตล่าสุดมาให้ทุกท่านเรียบร้อยแล้วค่ะกับ “อัปเดต !! สถานที่ทำพาสปอร์ตกรุงเทพฯ - ปริมณฑล และการเตรียมตัว 2020/2563” ไปชมกันได้เลยค่า


ประเภทของพาสปอร์ตมีอะไรบ้าง ?



พาสปอร์ต หรือ หนังสือเดินทาง คือเอกสารที่ใช้แสดงตนในการเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ เป็นเหมือนบัตรประชาชนที่ใช้ทั่วโลก โดยประเทศไทยมีพาสปอร์ต 4 ประเภท ดังนี้

1. หนังสือเดินทางทั่วไป (ปกสีน้ำตาล) ออกให้กับประชาชนทั่วไป ซึ่งนักท่องเที่ยวต้องมีพาสปอร์ตประเภทนี้ในการใช้เดินทาง
2. หนังสือเดินทางราชการ (ปกสีน้ำเงิน) สำหรับข้าราชการ
3. หนังสือเดินทางทูต (ปกสีแดงสด) สำหรับราชวงศ์และบุคคลสำคัญทางการเมือง
4. หนังสือเดินทางชั่วคราว (ปกสีเขียว) สำหรับผู้ที่ทำพาสปอร์ตหายแต่มีความต้องการเดินทางไปต่างประเทศอย่างเร่งด่วน มีข้อจำกัดคือไม่สามารถนำไปขอวีซ่าได้ในบางประเทศ


เอกสารและการเตรียมตัว


สำหรับประชาชนทั่วไป (ประเภท 1) จะมีเอกสารที่ต้องเตรียมดังนี้

หนังสือเดินทางทั่วไป : เยาวชน (อายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์)
- สูติบัตรหรือบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เยาว์ตัวจริง
- บัตรประจำตัวประชาชนของบิดาและมารดา
- หนังสือให้ความยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศ  โดยบิดาและมารดาจะต้องลงนามให้ความยินยอมทั้งสองฝ่าย ผู้ปกครองต้องมาแสดงตนทั้งคู่ หากทั้งคู่หย่าร้างจะต้องนำบันทึกการหย่า (บันทึกการหย่าที่ระบุให้บิดา หรือมารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง) นำมาด้วย เพื่อแสดงว่าผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของผู้ใด ใช้มาแสดงในการทำพาสปอร์ต
- เอกสารแสดงการเปลี่ยนชื่อ กรณีที่บิดาและมารดาทำการเปลี่ยนชื่อใหม่ และหากผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์เปลี่ยนชื่อด้วยต้องเตรียมเอกสารมาแสดงเช่นกัน
หมายเหตุ : สูติบัตรกรณีผู้เยาว์อายุยังไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์ และยังไม่ได้ทำบัตรประจําตัวประชาชน

หนังสือเดินทางทั่วไป สำหรับบุคคลทั่วไป (อายุตั้งแต่ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป)
- บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง
- หนังสือเดินทางเล่มเดิม (ถ้ามี)
หมายเหตุ : เฉพาะกรณีเคยทำหนังสือเดินทางและหนังสือเดินทางเล่มเดิมยังมีอายุการใช้งานหรือใบแจ้งความ กรณีหนังสือเดินทางเล่มเดิมที่ยังมีอายุการใช้งานสูญหาย


ขั้นตอนการทำพาสปอร์ต


หากเตรียมเอกสารต่าง ๆ พร้อมแล้วก็ถึงเวลาในการเดินทางไปทำพาสปอร์ต โดยกระทรวงการต่างประเทศได้มีการจัดตั้งสำนักงานหนังสือเดินทางขึ้นหลายแห่งเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ต้องการทำพาสปอร์ต โดยท่านสามารถเลือกทำกับสำนักงานหนังสือเดินทางที่ไหนก็ได้ที่ท่านสะดวก เมื่อถึงสำนักงานหนังสือเดินทางที่คุณเลือกแล้วให้ทำตามขั้นตอนดังนี้


1. กดรับบัตรคิว
2. กรอกใบคำร้อง แนบบัตรประชาชนที่มีเลข 13 หลัก พร้อมเอกสารหลักฐานอื่นที่เตรียมมา
3. นั่งรอคิว เมื่อถึงคิวท่านแล้ว เจ้าหน้าที่จะให้ วัดส่วนสูง เก็บลายพิมพ์นิ้วมือนิ้วชี้ซ้าย และนิ้วชี้ขวาด้วยเครื่องสแกนเนอร์ และถ่ายรูปใบหน้า
4. ชำระค่าธรรมเนียม 1,000 บาท (หากต้องการให้ส่งหนังสือเดินทางไปที่บ้าน จะมีค่าธรรมเนียมประมาณ 40-60 บาท) หรือหากท่านทำที่กรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปรับหนังสือเดินทางได้ด้วยตนเองที่กรมการกงสุล
5. รับใบเสร็จรับเงิน และรับใบนัดรับเล่มตามวันที่ โดยทั่วไปแล้ว พาสปอร์ตจะจัดส่งไปที่บ้านของท่านภายใน 5- 7 วันทำการ (หากอยู่ในกรุงเทพฯหรือปริมณฑลอาจจะเร็วกว่า)


สถานที่ทำพาสปอร์ตในเขตกรุงเทพ ฯ และปริมณฑล


1. กรมการกงสุล แจ้งวัฒนะ


ที่อยู่ : 123 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
หมายเลขโทรศัพท์ :  02 203 5000 กด 1 เพื่อติดต่อกรมการกงสุล หรือ CALL CENTER 02 572 8442
Facebook : www.facebook.com/ThaiConsular/


2. สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว บางนา-ศรีนครินทร์


ที่อยู่ : ศูนย์การค้าธัญญาพาร์ค ศรีนครินทร์ ชั้น 2 โซน E
หมายเลขโทรศัพท์  : 02 136 3800, 02 136 3802  โทรสาร  02 136 3801
Facebook : https://www.facebook.com/passportsrinakrin/


3. สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ปิ่นเกล้า


ที่อยู่ : อาคาร SC Plaza สถานีขนส่งกรุงเทพ (สายใต้ใหม่) ถนนบรมราชชนนี                                  
หมายเลขโทรศัพท์ : 02 422 3431  โทรสาร 02 422 3432
Facebook : https://www.facebook.com/admin.pinklao/


4. สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว มีนบุรี


ที่อยู่ : ศูนย์การค้าบิ๊กซี สาขาสุวินทวงศ์ เขตมีนบุรี                                            
หมายเลขโทรศัพท์ :  02 024 8362-63, 02 024 8365   โทรสาร 02 024 8361
Facebook : สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว มีนบุรี


5. สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว MRT คลองเตย


ที่อยู่ : สถานีรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) คลองเตย
หมายเลขโทรศัพท์  : 02-024-8896, 093-010-5247  โทรสาร 02-024-8897
Facebook : https://www.facebook.com/PassportMRTKlongtoei/


6.สำนักงานหนังสือเดินทาง ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา (รับทำเฉพาะหนังสือเดินทางราชการเท่านั้น)


ที่อยู่ : ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา (อาคารบี ประตูฝั่งทิศตะวันออก) ชั้น 7 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
หมายเลขโทรศัพท์ : 02 203 5000 ต่อ 49007,49009,49010,49017


7.สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ปทุมวัน


ที่อยู่: ห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง (MBK Center) ชั้น 5 โซน A
*เปิดทำการ 29 มิถุนายน 2563


8.สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ธัญบุรี


ที่อยู่ : ห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ชั้น 3
*เปิดทำการช่วงเดือน สิงหาคม 2563


9.สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว บางใหญ่


ที่อยู่ : ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า เวสต์เกต ชั้น G โซนสีเขียว
*เปิดทำการช่วงเดือน สิงหาคม 2563


ข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้พาสปอร์ต


1. ห้ามปั๊มตราหรือขีดเขียนใดๆ ลงในหน้าพาสปอร์ตเด็ดขาด

อย่างที่ทุกท่านเคยเห็นจากข่าวที่นักท่องเที่ยวชาวไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วชอบปั๊มตราที่ระลึกจากสถานที่เที่ยวต่างๆ ไว้ในพาสปอร์ต แต่เมื่อใช้เดินทางไปยังประเทศอื่นต่อกลับถูกสายการบินปฏิเสธการเช็กอิน หรือตม.ในหลายประเทศก็กักตัวไว้ และปฏิเสธการผ่านเข้าประเทศ เพราะว่าการปั๊มตราใดๆ ที่ไม่ใช่ตราที่ออกโดยตม. ถือว่าพาสปอร์ตเล่มนั้นชำรุด และใช้งานไม่ได้อีกต่อไป ดังนั้น หากทุกท่านไม่อยากให้เกิดกับตนเอง ห้ามทำเด็ดขาดนะคะ

หนังสือเดินทาง หรือพาสปอร์ต เป็นเอกสารสำคัญทางราชการที่ใช้เพื่อยืนยันตัวตนในการเดินทางไปต่างประเทศ และในหนังสือเดินทางต้องมีเพียงตราประทับของราชการเท่านั้น ห้ามขีดเขียนหรือปั๊มตราอื่นๆ ลงไป เพราะจะถือว่าหนังสือเดินทางชำรุด ทำให้มีสิทธิ์ถูกปฏิเสธการเข้าประเทศ และอาจถึงขั้นร้ายแรงจนถูกห้ามเข้าประเทศ (Blacklist) ไปเลยก็ได้ค่ะ


2. หน้าปกพาสปอร์ตถลอกหรือหลุดลอก จนตัวหนังสือและตราครุฑหาย จะใช้งานต่อไม่ได้

ท่านไหนที่เดินทางบ่อย หรือไม่ค่อยได้เดินทางจนเก็บพาสปอร์ตไว้นานๆ หน้าปกพาสปอร์ตที่เป็นตัวหนังสือและตราครุฑก็อาจเกิดการหลุดลอก เลือนหายไปบ้าง แต่ในกรณีที่ตราครุฑและตัวหนังสือสีทองบนหน้าปกพาสปอร์ตหลุดลอกหายไปทั้งหมด จะถือว่าพาสปอร์ตเล่มนั้นใช้งานต่อไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องมีการดูแลรักษาพาสปอร์ตให้ดี ไม่ให้มีการชำรุดเสียหาย ก่อนจะเดินทางไปต่างประเทศก็ต้องตรวจสอบและเตรียมพาสปอร์ตเอาไว้ หากรายละเอียดบนหน้าปกพาสปอร์ตของท่านไหนเลือนหายจนไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นพาสปอร์ตจากประเทศอะไร ก็ต้องไปทำเล่มใหม่ไว้เลยค่ะ


ในช่วงปี 2563 นี้กรมการกงสุลกระทรวงการต่างประเทศได้เพิ่มจุดสำหรับทำพาสปอร์ตไว้หลายที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทุกท่านเลยนะคะ หากท่านใดต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถคลิกที่นี่เพื่ออัปเดตข่าวสารจากกรมการกงสุลได้เลยค่ะ


ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.facebook.com/ThaiConsular 
                             http://www.consular.go.th/
                             https://www.frank.co.th/
                             https://www.sanook.com/