Loading...

เที่ยวไปกับ ชิล สแควร์ ทราเวล
 เพื่อนเที่ยวเพื่อนคุณ 

Call Center : 094-545-3095

One Day Trip แจกพิกัดไหว้พระเสริมบุญ 9 วัดดัง ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

26 มิ.ย. 2563

ไทย ชมสถาปัตยกรรม, ตามรอยประวัติศาสตร์, ศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่นสถานที่แนะนำ

ทำบุญใกล้กรุงกับ "จังหวัดพระนครศรีอยุธยา" จังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์ อดีตราชธานีเก่าแก่ อันเป็นที่ตั้งของวัด วัง และโบราณสถานที่สำคัญของประเทศไทย แจกพิกัดไหว้พระ 9 วัดดัง สุขทั้งใจ สุขทั้งกาย เที่ยวแบบสบายๆ สไตล์ One Day Trip ห้ามพลาด!!

สัมผัสเสน่ห์ของเมืองหลวงเก่าที่ไม่เคยลดน้อยลงไปจากความนิยมของนักท่องเที่ยวที่ พระนครศรีอยุธยา กับ 417 ปี อดีตราชธานีเก่าแก่ของสยามประเทศ เพราะที่นี่ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์  และด้วยความที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียงแค่ 76 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าใกล้มาก วันเดียวก็เที่ยวได้สบายๆ อยุธยาจึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคนมีเวลาน้อย ในบทความนี้น้องชิลจะมา แจกพิกัดไหว้พระเสริมบุญ 9 วัดดัง One Day Trip ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะมีวัดไหนกันบ้างนั้นตามมาชมกันได้เลยค่ะ


วัดที่ 1 : วัดใหญ่ชัยมงคล

วัดใหญ่ชัยมงคล
วัดใหญ่ชัยมงคล
วัดใหญ่ชัยมงคล

วัดใหญ่ชัยมงคล (Wat Yai Chaimongkol) เดิมชื่อวัดป่าแก้ว หรือ วัดเจ้าพระยาไท ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก ตามข้อมูลประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นสำนักของพระสงฆ์ซึ่งไปบวชเรียนมาแต่สำนักพระวันรัตน์มหาเถรในประเทศลังกา คณะสงฆ์ที่ไปศึกษาพระธรรมวินัยเรียกนามนิกายในภาษาไทยว่า "คณะป่าแก้ว" วัดนี้จึงได้ชื่อว่า "วัดป่าแก้ว" ต่อมาคนเลื่อมใสบวชเรียนพระสงฆ์นิกายนี้ จึงมีการตั้งอธิบดีสงฆ์นิกายนี้เป็นสมเด็จพระวันรัตน์มีตำแหน่งเป็นสังฆราชฝ่ายขวาคู่กับพระพุทธโฆษาจารย์เป็นอธิบดีสงฆ์ฝ่ายคันถธุระ มีตำแหน่งเป็นสังฆราชฝ่ายซ้าย หลังจากนั้นได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดเจ้าพระยาไท" สันนิษฐานว่ามาจากที่พระเจ้าอู่ทองทรงสร้างวัดป่าแก้วขึ้น ณ บริเวณที่ซึ่งได้ถวายพระเพลิงพระศพของเจ้าแก้วเจ้าไท หรืออาจมาจากการที่วัดนี้เป็นที่ประทับของพระสังฆราชฝ่ายขวา ซึ่งในสมัยโบราณเรียกพระสงฆ์ว่า "เจ้าไท" ฉะนั้นเจ้าพระยาไทจึงหมายถึงตำแหน่งพระสังฆราช วัดใหญ่ชัยมงคลยังมีความผูกพันกับประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชด้วย กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2135 เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำศึกยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชแห่งพม่าที่ตำบลหนองสาหร่าย เมืองสุพรรณบุรี ทรงสร้างพระเจดีย์ใหญ่ขึ้นที่วัดนี้เป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ การสร้างพระเจดีย์อาจสร้างเสริมพระเจดีย์เดิมที่มีอยู่หรืออาจสร้างใหม่ทั้งองค์ก็ได้ ไม่มีหลักฐานแน่นอน ขนานนามว่า "พระเจดีย์ชัยมงคล" แต่ราษฎรเรียกว่า "พระเจดีย์ใหญ่" ฉะนั้นนานวันเข้าวัดนี้จึงเรียกชื่อเป็น "วัดใหญ่ชัยมงคล" ทว่าเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 บ้านเมืองถูกกองทัพพม่าเผาทำลาย วัดใหญ่ชัยมงคลจึงถูกทิ้งร้างไปในที่สุด ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์จึงมีการบูรณปฏิสังขรณ์และมีภิกษุสงฆ์จำพรรษาดังเช่นในปัจจุบัน สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ เจดีย์ชัยมงคล อนุสรณ์แห่งชัยชนะของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเหนือมังกะยอชวา พระมหาอุปราชของหงสาวดี และวิหารพระพุทธไสยาสน์ สร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อเป็นที่ถวายสักการะบูชาและปฏิบัติพระกรรมฐาน ปัจจุบันมีการสร้างพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีผู้นิยมไปนมัสการอย่างสม่ำเสมอเป็นจำนวนมาก

เวลาเปิด-ปิด ทำการ : ทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.
ค่าเข้าชม : คนไทยเข้าชมฟรี สำหรับชาวต่างชาติ 20 บาท
ที่ตั้ง : 40/3 หมู่ที่ 3 ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000
พิกัด : https://goo.gl/maps/joqnREzjAc8LkEEy7


วัดที่ 2 : วัดพนัญเชิงวรวิหาร

วัดพนัญเชิงวรวิหาร
วัดพนัญเชิงวรวิหาร
วัดพนัญเชิงวรวิหาร

วัดพนัญเชิงวรวิหาร (Wat Phanan Choeng Worawihan) วัดอันเป็นที่เลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนชาวไทยจีน แทรกโศกนาฏกรรมตำนานรักซ้อนอยู่ในชื่อ ตามพงศาวดารเหนือบันทึกไว้ว่าพระเจ้าสายน้ำผึ้ง กษัตริย์ผู้ครองอโยธยาก่อนราชวงศ์อู่ทองทรงสร้างขึ้น ณ บริเวณที่พระราชทานเพลิงพระศพพระนางสร้อยดอกหมาก พระราชธิดาบุญธรรมในพระเจ้ากรุงจีน ซึ่งยกให้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าสายน้ำผึ้ง แต่เมื่อกลับจากรับตัวพระนางมาจากเมืองจีน พระเจ้าสายน้ำผึ้งรับสั่งให้พระนางรออยู่ที่เรือพระที่นั่งก่อน จะทรงจัดขบวนมารับเข้าวัง แต่พระองค์มิได้เสด็จมารับว่าที่พระอัครมเหสีด้วยองค์เอง พระนางสร้อยหมากจึงไม่ยอมขึ้นจากเรือ เป็นเช่นนี้อยู่ 2 ครั้ง พระเจ้าสายน้ำผึ้งรับสั่งสัพยอกทั้ง 2 ครั้งว่า "เมื่อไม่ขึ้นก็จงอยู่ที่นี่เถิด" ด้วยความน้อยพระทัย พระนางสร้อยหมากทรงกลั้นพระทัยถึงแก่สวรรคตทันที เป็นที่มาของชื่อวัดว่า วัดพระนางเชิง ยังคงพบเห็นตำหนักเจ้าแม่สร้อยดอกหมากริมแม่น้ำป่าสัก สถานที่ประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก หรือชาวจีนเรียกว่า จู๊แซเนี้ย ผู้คนจำนวนมากเดินทางมาที่พระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรวิหาร สังกัดมหานิกายนี้ หวังใจว่าจะนมัสการหลวงพ่อโต พระคู่บ้านคู่เมืองอยุธยามาช้านาน ซึ่งตามพงศาวดารกล่าวว่าสร้างขึ้นก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง 26 ปี หรือตรงกับ พ.ศ. 1867 เดิมนามว่า พระเจ้าพแนงเชิง หรือเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวจีนว่า เจ้าพ่อซำปอกงหรือผู้คุ้มครองการเดินทางในทะเล ซึ่งได้รับพระราชทานนามใหม่จากรัชกาลที่ 4 ว่า พระพุทธไตรรัตนนายก เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ศิลปะอู่ทองตอนปลาย ปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ ขนาดหน้าตักกว้าง 14.20 เมตร สูง 19.20 เมตร นับได้ว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ประดิษฐานในพระวิหารใหญ่ซึ่งสร้างคลุมในภายหลัง เสาเขียนสีลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่งสีแดง หัวเสาประดับปูนปั้นรูปบัวกลุ่มกลีบซ้อนกันหลายชั้น บานประตูไม้แกะสลักลอยตัวเป็นลายก้านขดยกดอกนูนออกมา ผนัง 4 ด้านเจาะช่องบรรจุพระพุทธรูป 84,000 องค์เท่าจำนวนพระธรรมขันธ์ เรียกว่าพระงั่ง งดงามชวนตะลึงยิ่งนัก ตามคำให้การชาวกรุงเก่ายังบันทึกไว้ด้วยว่า เมื่อคราวจะเสียกรุงใน พ.ศ. 2310 หลวงพ่อโตมีน้ำตาไหลออกมาเป็นสาย เป็นที่อัศจรรย์นัก ส่วนพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปทอง ปูนและนาค ซึ่งเดิมทีเป็นเพียงพระพุทธรูปปูนปั้นทั้ง 3 องค์ แต่เพิ่งค้นพบภายหลังว่าเป็นทองและนาคเมื่อปูนกระเทาะออก จึงสันนิษฐานว่าก่อนจะเสียกรุง ชาวบ้านนำปูนมาพอกองค์พระไว้เพื่อป้องกันไม่ให้พม่าเผาลอกเอาทองพระไป ส่วนวิหารเซียน อาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหน้าพระวิหารหลวง เดิมมีภาพจิตรกรรมฝาผนังงดงามทั้ง 4 ด้าน แต่ถูกโบกปูนทับเมื่อคราวปฏิสังขรณ์ และมีศาลาการเปรียญ เป็นศาลาไม้ทรงไทย หน้าบันประดับช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ มีภาพพุทธประวัติบนผ้าติดไว้ที่ขื่อพร้อมลง พ.ศ. 2472 กำกับไว้ ภายในมีธรรมาสน์สลักลวดลายแบบรัตนโกสินทร์สวยงามมาก วัดนี้ยังจัดงานประจำปียิ่งใหญ่ถึง 4 ครั้ง ได้แก่ งานมหาสงกรานต์ งานสรงน้ำและห่มผ้าถวายวันแรม 8 ค่ำ เดือนเมษายน งานทิ้งกระจาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเมืองไทย มีงิ้วและมหรสพมาแสดงจนเรียกอีกชื่อหนึ่งว่างานงิ้วเดือน 9 และสุดท้ายคืองานตรุษจีน เปิดวิหารหลวงให้นมัสการหลวงพ่อโตถึง 5 วัน

เวลาเปิด-ปิด ทำการ : ทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.
ค่าเข้าชม : คนไทยเข้าชมฟรี สำหรับชาวต่างชาติ 20 บาท
ที่ตั้ง : 2 หมู่ที่ 12 ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000
พิกัด : https://goo.gl/maps/feeELocucLNxZ2u78


วัดที่ 3 : วิหารพระมงคลบพิตร

วิหารพระมงคลบพิตร

วิหารพระมงคลบพิตร (Wihan Phra Mongkhon Bophit) ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นที่ประดิษฐานพระมงคลบพิตร พระพุทธรูปบุสำริดปางมารวิชัย ที่สะท้อนภูมิปัญญาในศาสตร์แห่งโลหะและความชำนิชำนาญของช่างฝีมือไทยในหล่อโลหะโดยเฉพาะงานหล่อสำริดโลหะสำคัญในสมัยอยุธยา มีขนาดหน้าตักกว้าง 9.55 เมตรและสูง 12.45 เมตร นับเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่องค์หนึ่งในประเทศไทย ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายจากทิศตะวันออกนอกพระราชวังมาไว้ทางด้านทิศตะวันตกที่ประดิษฐานอยู่ในปัจจุบัน และโปรดเกล้าฯ ให้ก่อมณฑปสวมไว้ ทว่าในสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ เกิดฟ้าผ่ายอดมณฑปพระมงคลบพิตรเกิดไฟไหม้ทำให้ส่วนบนขององค์พระมงคลบพิตรเสียหาย จึงโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมใหม่ แปลงหลังคายอดมณฑปเป็นมหาวิหารและต่อพระเศียรพระมงคลบพิตรในสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ และในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 วิหารพระมงคลบพิตรถูกข้าศึกเผาทำลายจนเสียหาย ครั้นเมื่อรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้การปฏิสังขรณ์ใหม่ ซึ่งยังคงเค้าความเป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยา และสามารถเป็นแบบอย่างของพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนกลางได้อย่างดี สำหรับบริเวณข้างวิหารพระมงคลบพิตรทางด้านทิศตะวันออกแต่เดิมเป็นสนามหลวง ใช้เป็นที่สำหรับสร้างพระเมรุพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และเจ้านายเช่นเดียวกับท้องสนามหลวงของกรุงเทพฯ นอกจากจะได้นมัสการพระพุทธรูปหล่อขนาดใหญ่องค์เดียวในประเทศไทยแล้ว พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวนิยมแวะด้านหน้าวัด ซึ่งจำหน่ายของพื้นเมือง อาหารคาวหวาน ผลไม้ ขนม โรตีสายไหม เครื่องจักสานและของดีเมืองอยุธยาหลากหลายชนิด ที่นี่จึงเป็นศูนย์กลางแห่งศรัทธาและหมุดหมายการท่องเที่ยวแห่งสำคัญ เปิดให้สักการะองค์พระได้ทุกวัน

เวลาเปิด-ปิด ทำการ : วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.00-16.30 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.00-17.00 น.
ที่ตั้ง : ถนนนเรศวร ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000
พิกัด : https://goo.gl/maps/vwX3Rmp4pKGjAwYj9


วัดที่ 4 : วัดพระศรีสรรเพชรญ์

วัดพระศรีสรรเพชรญ์
วัดพระศรีสรรเพชรญ์

วัดพระศรีสรรเพชรญ์ (Wat Phra Si Sanphet) ในบรรดาวัดนับร้อยนับพันทั่วอยุธยา วัดที่มีความสำคัญที่สุดวัดหนึ่งในยุคโบราณคือวัดพระศรีสรรเพชญ์แห่งนี้ เพราะมีวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างให้เป็นวัดส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานโดยไม่มีพระสงฆ์จำวัด ใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญมากมาย รวมถึงพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาปีละ 2 ครั้ง เป็นที่เก็บพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์อยุธยาเกือบทุกพระองค์ จึงกล่าวได้ว่าสำคัญเทียบเท่าวัดพระศรีรัตนศาสดารามแห่งกรุงเทพมหานครหรือวัดมหาธาตุแห่งกรุงสุโขทัยเลยทีเดียว เดิมที่ตั้งของวัดเป็นพระราชมณเฑียรที่ประทับของพระมหากษัตริย์ซึ่งสร้างขึ้นสมัยพระเจ้าอู่ทอง แต่ต่อมาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงย้ายพระราชวังขึ้นไปทางทิศเหนือต่อจากเขตวัดจรดแม่น้ำลพบุรี และยกที่ดินเดิมผืนนี้เป็นเขตพุทธาวาส และสร้างวัดพระศรีสรรเพชญ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1991 ใจกลางวัดเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์ใหญ่ศิลปะลังกา 3 องค์ มีมณฑป 3 หลังคั่นกลางสร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระเจดีย์สององค์แรกทางทิศตะวันออกสร้างเมื่อ พ.ศ. 2035 ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถพระราชบิดา และองค์ที่สองคือองค์กลางเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 พระบรมเชษฐา ส่วนเจดีย์องค์ที่ 3 ทางทิศตะวันตก สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (สมเด็จพระหน่อพุทธางกูร) พระราชโอรสได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 วิหารปลายทิศตะวันออกของพระเจดีย์องค์ที่ 1 นี้เรียกว่าพระวิหารหลวงหรือพระวิหารหลวงหรือวิหารพระศรีสรรเพชญ์นี้ เคยมีพระพุทธรูปหุ้มทองคำหนัก 286 ชั่ง หรือ 171 กิโลกรัม เท่ากับ 12,880 บาท ประทับยืนสูงถึง 8 วาหรือ 16 เมตร พระนามว่า พระศรีสรรเพชญดาญาณ ถือกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญที่สุดในสมัยอยุธยา ซึ่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2043 แต่เมื่อครั้งเสียกรุง พ.ศ. 2310 พม่าได้เผาลอกทองไปหมดสิ้น จนเหลือแต่แกนในพระซึ่งทำด้วยสำริด ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงอัญเชิญแกนในพระศรีสรรเพชญ์นี้ลงไปที่กรุงเทพมหานครและสร้างพระเจดีย์หุ้มแกนพระไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์ แล้วถวายพระนามว่า เจดีย์พระศรีสรรเพชญ์ดาญาณตามองค์พระประธานที่ประดิษฐานอยู่ภายใน ตัวพระวิหารหลวงที่อยุธยานั้นมีวิหารพระโลกนาถขนาบด้านทิศเหนือทิศใต้คือ วิหารพระป่าเลไลยก์ ทิศเหนือคือพระวิหาร ส่วนพระอุโบสถอยู่ทางทิศใต้ เป็นการจัดวางพระเจดีย์ล้อมกรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสลับกับวิหารแกลบ นับเป็นรูปแบบการจัดวางสิ่งก่อสร้างที่ชาญฉลาดและงดงามของช่างยุคโบราณ

เวลาเปิด-ปิด ทำการ : ทุกวัน 08.00-18.00 น. และเวลา 19.30-21.00 น.
ค่าเข้าชม : คนไทย 10 บาท สำหรับชาวต่างชาติ 50 บาท หรือซื้อบัตรรวม คนไทย 40 บาท สำหรับชาวต่างชาติ 220 บาท เข้าชมวัดบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ภายในระยะเวลา 30 วัน ได้แก่ วัดพระศรีสรรเพชญ์และพระราชวังหลวง วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระราม วัดไชยวัฒนาราม
ที่ตั้ง : ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000
พิกัด : https://goo.gl/maps/EojyLiKoJ3sdo5RRA


วัดที่ 5 : วัดธรรมิกราช

วัดธรรมิกราช
วัดธรรมิกราช
วัดธรรมิกราช

วัดธรรมิกราช (Wat Thammikarat) ถือว่าเป็นวัดที่คลายปริศนาคลี่คลายจุดกำเนิดของกรุงศรีอยุธยา ตามตำนานเล่าว่าเดิมชื่อวัดมุขราช สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าสายน้ำผึ้ง ผู้ครองเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร ซึ่งเป็นอาณาจักรยุคก่อนกรุงศรีอยุธยา ครั้งนั้นพระเจ้าสายน้ำผึ้งทรงสร้างวัดพนัญเชิง พระเจ้าธรรมิกราช ผู้เป็นพระราชโอรสจึงทรงสร้างวัดธรรมิกราชขึ้นบริเวณเมืองสังขบุรี ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่าวัดนี้เคยได้รับการบูรณะมาแล้วครั้งหนึ่งในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งทรงสร้างวิหารทรงธรรมขนาด 9 ห้องเพื่อสดับพระธรรมเทศนาในวันพระ แต่ถูกไฟไหม้เสียหายเมื่อครั้งกรุงศรีแตกครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2310 งานพุทธศิลป์ที่หาชมได้ยากปรากฎอยู่ที่วัดธรรมิกราชแห่งนี้หลายแห่ง เช่น วิหารพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งพระราชมเหสีของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสร้างขึ้นตามคำอธิษฐานที่ทรงขอให้พระราชธิดาทรงหายประชวร องค์พระนอนหรือพระพุทธไสยาสน์มีความยาว 12 เมตร หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ฝ่าพระบาทปิดทองประดับกระจก และกราบบูชาพระประธานภายในพระอุโบสถ ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยสีขาว ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่สิ่งก่อสร้างโดดเด่นที่สุดคือพระเจดีย์สิงห์ล้อม แตกต่างจากวัดอื่น ๆ ที่มักเป็นรูปปูนปั้นช้างล้อม หรือหากจะมีรูปปั้นสิงห์ก็เพียงแต่ล้อมไว้ 4 มุม 4 ทิศ ดังเช่นศิลปะล้านนาที่เชียงใหม่ แต่พระเจดีย์ทรงระฆังแห่งนี้มีสิงห์ล้อมถึง 52 ตัว อันได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีนและขอม นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปหล่อสำริดศิลปะอู่ทองขนาดใหญ่ แต่หลงเหลือเพียงเศียรพระขนาดใหญ่ จึงสันนิษฐานว่าพระพุทธรูปเต็มองค์คงมีจะใหญ่มโหฬารเพราะเพียงพระเศียรยังใหญ่โตถึงเพียงนี้ พระพักตร์เหลี่ยมแลดูถมึงทึง ชาวบ้านจึงเรียกกันอย่างสามัญว่า หลวงพ่อแก่ ปัจจุบันได้รับการอัญเชิญไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเจ้าสามพระยา และที่นี่เป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ด้วย 

เวลาเปิด-ปิด ทำการ : ทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น.
ที่ตั้ง : ถนนอู่ทอง ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000
พิกัด : https://goo.gl/maps/rgJsr5LMtfFmL8og7


วัดที่ 6 : วัดมหาธาตุ

วัดมหาธาตุ
วัดมหาธาตุ
วัดมหาธาตุ

วัดมหาธาตุ (Wat Maha That) พระอารามหลวงที่สร้างในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) แต่ไม่แล้วเสร็จ ทรงเสด็จสวรรคตเสียก่อน และได้สร้างเพิ่มเติมจนเสร็จ ในสมัยสมเด็จพระราเมศวร เมื่อครั้งพระองค์ได้กลับมาครองราชสมบัติอีกครั้ง โดยได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระปรางค์ประธาน และอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ใต้ฐานพระปรางค์ประธานของวัดมหาธาตุ เมื่อปี พ.ศ. 1927 ซึ่งเป็นจุดที่พระองค์เคยทอดพระเนตรเห็นพระบรมสารีริกธาตุเปล่งแสงสว่างและลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า ในสมัยอยุธยา วัดมหาธาตุนั้นเป็นศูนย์กลางของเมือง และเป็นสถานที่จัดพระราชพิธีต่างๆ ของกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย โดยมีสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายคามวาสี ประทับอยู่ภายในวัด ส่วนพระสังฆราชฝ่ายอรัญวาสีนั้น ประทับอยู่ที่วัดป่าแก้ว (วัดใหญ่ชัยมงคล) เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 นั้น วัดมหาธาตุได้ถูกเพลิงไหม้เสียหายเป็นอันมาก จนถูกทิ้งร้างตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปัจจุบันเป็นหนึ่งในวัดที่อยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จุดสนใจภายในวัดมหาธาตุ ประกอบด้วย พระวิหารหลวง ตั้งอยู่ด้านหน้าของวัด บริเวณใต้ฐานชุกชีภายในพระวิหาร ได้ค้นพบภาชนะดินเผาขนาดเล็ก 5 ใบ ภายในบรรจุแผ่นทองดุนลายรูปพระพุธรูป และรูปสัตว์ต่างๆ พระปรางค์ประธาน เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมยกสูง โดยมีระเบียงคดล้อมรอบทั้งสี่ด้าน เป็นปรางค์ในยุคแรกของสมัยอยุธยาซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะขอม พระอุโบสถ ตั้งอยู่ด้านหลังปรางค์ประธาน ผนังก่ออิฐเหลืออยู่บางส่วน ภายในปรากฏเสาแปดเหลี่ยม ด้านหลังเป็นที่ตั้งของฐานชุกชี เจดีย์แปดเหลี่ยม ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้ยี่สิบ ชั้นบนเป็นเจดีย์รูปแปดเหลี่ยม ลดหลั่นกันขึ้นไป 4 ชั้น ทำซุ้มอยู่โดยรอบทั้ง 8 ด้าน ผนังประดับด้วยปูนปั้นรูปเทวดา นับเป็นเจดีย์แปดเหลี่ยมองค์เดียวที่พบในพระนครศรีอยุธยา เศียรพระพุทธรูปหินทราย ซึ่งปกคลุมด้วยรากต้นโพธิ์ เป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวอย่างมาก

เวลาเปิด-ปิด ทำการ : ทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น.
ค่าเข้าชม : คนไทย 10 บาท สำหรับชาวต่างชาติ 50 บาท
ที่ตั้ง : ถนนนเรศวร ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000
พิกัด : https://goo.gl/maps/JEQh1d2tUifebbLEA



วัดที่ 7 : วัดหน้าพระเมรุ

วัดหน้าพระเมรุ
วัดหน้าพระเมรุ

วัดหน้าพระเมรุ (Wat Na Phra Meru) สถานที่ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสันติสุขของบ้านเมืองอย่างยิ่งยวด เมื่อวัดที่สร้างในสมัยพระรามาธิบดีที่ 2 พ.ศ. 2046 เดิมชื่อ วัดพระเมรุราชิการามแห่งนี้ เคยเป็นที่พระมหาจักรพรรดิใช้ทำสัญญาสงบศึกสงครามช้างเผือกกับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง เมื่อ พ.ศ. 2092 ตลอดสมัยอยุธยาจึงได้รับดูแลอย่างดี และได้รับการบูรณะในสมัยพระเจ้าบรมโกศ เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 ก็รอดเพลิงผลาญของพม่ามาได้ จนได้รับการบูรณะอีกครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดนี้มีพระพุทธรูปเก่าแก่ในสภาพสมบูรณ์มาก องค์หนึ่งนั้นประดิษฐานภายในพระอุโบสถใหญ่ขนาด 9 ห้องหรือประมาณ 41 เมตรครึ่ง หน้าบันเป็นไม้แกะสลักรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ซึ่งเหยียบอยู่บนเศียรของพญานาคล่างลงไปเป็นราหู ล้อมรอบด้วยหมู่เทวดาประนมมืออยู่ 26 องค์ลงรักปิดทองประดับกระจก ประตูเข้าด้านหน้าอุโบสถมี 3 บาน ช่องกลางมีขนาดกว้างใหญ่ที่สุดประดับยอดปราสาทสำหรับบุคคลสำคัญเท่านั้น ต่อมาดัดแปลงเป็นซุ้มหน้าต่างแทน ภายในมีเสาแปดเหลี่ยมขนาดใหญ่ 8 คู่ หัวเสาเป็นยอดดอกบัวตูมรับเครื่องหลังคาขนาดมหึมาตลอดคานไม้และขื่อประดับลายแกะไม้รวมถึงดาวเพดานที่แกะได้อลังการราวกับดวงดาวในท้องฟ้าแต่สำคัญและงดงามที่สุดคือ พระพุทธรูปทรงเครื่ององค์ใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งที่เคยค้นพบ ประทับนั่งปางมารวิชัย พระพักตร์สง่า สงบนิ่งทว่าน่าเกรงขามยิ่งนัก หน้าตักกว้าง 9 ศอกเศษ สูง 6 เมตรเศษ พระนามว่าพระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถหรือ พระพุทธนิมิตฯ โดยคำว่าพระพุทธรูปทรงเครื่องนั้นตีความได้ 2 ประการ คือหนึ่ง หมายถึงพระศรีอาริยเมตไตรยผู้ซึ่งจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 5 ปัจจุบันพระองค์ยังเป็นเทพบุตรอยู่ในสรวงสวรรค์จึงทรงเครื่องเทวดา หรือสอง หมายถึงเรื่องราวพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าทรมานพญามารชมพูบดี ผู้ชอบอวดความมั่งคั่งแต่งกายสวยงาม พระพุทธเจ้าจึงเนรมิตพระองค์ให้มีความงามกว่าพญามาร เป็นการปราบมารในรูปแบบหนึ่ง ส่วนพระวิหารน้อย หรือวิหารสรรเพชญ์หรือวิหารเขียนซึ่งมีขนาดเล็กเพียง 6 เมตร ยาว 16 เมตร สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 ลวดลายปูนปั้นปิดทองทั้งที่ประตูและหน้าต่างเป็นลายพรรณพฤกษาฝรั่งปนจีนตามสมัยนิยม เช่น ลายแจกันดอกไม้และโต๊ะหมู่บูชาแบบจีนขนาดเล็ก ภายในมีพระคันธารราฐ พระพุทธรูปศิลาเขียวสมัยทวารวดี สร้างระหว่าง พ.ศ. 1000-1200 ปางปฐมเทศนา ประทับห้อยพระบาทบนดอกบัวบานซึ่งพระยาไชยวิชิต (เผือก) แม่กองบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 จารึกไว้ว่า อัญเชิญมาจากวัดมหาธาตุที่อยุธยา ทว่ามีบันทึกในสมัยรัชกาลที่ 5 ว่าอัญเชิญมาจากวัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นแหล่งค้นพบพระพุทธรูปทวารวดีขนาดใหญ่หลายองค์โดยพระคันธารราฐนี้มีปรากฏในโลกเพียง 6 องค์เท่านั้น อยู่ที่วัดพระปฐมเจดีย์ 3 องค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาที่อยุธยา1 องค์ ประเทศอินโดนีเซีย 1 องค์ และที่วัดหน้าพระเมรุ 1 องค์พระคันธารราฐนี้มีลักษณะเด่น คือพระรัศมีรอบพระเศียรตามแบบอิทธิพลจีน ชายจีวรถูกถลกสูงเผยพระชานุซ้ายซึ่งนิยมในการสร้างพระศรีอาริยเมตไตรยในประเทศจีนสมัยราชวงศ์ถัง ส่วนพระหัตถ์ทั้งคู่วางราบอยู่บนเข่าทั้งสอง แปลกไปจากปางที่พบในเมืองไทย นอกจากนี้ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งลบเลือนไปตามกาลเวลา แม้จะยังพอมองเห็นเป็นภาพการเดินทางและการตั้งร้านขายของ อันเป็นภาพวิถีชีวิตโบราณที่หาดูได้ยากและงดงามที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

เวลาเปิด-ปิด ทำการ : ทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น.
ค่าเข้าชม : คนไทยเข้าชมฟรี สำหรับชาวต่างชาติ 20 บาท
ที่ตั้ง : ตำบลคลองสระบัว อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000
พิกัด : https://goo.gl/maps/ZxvJZhaBkV7twzECA



วัดที่ 8 : วัดพุทไธศวรรย์

วัดพุทไธศวรรย์
วัดพุทไธศวรรย์
วัดพุทไธศวรรย์

วัดพุทไธศวรรย์ (Wat Phutthai Sawan) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านทิศตะวันตก ที่ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา ตรงข้ามเกาะเมือง ในสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดพุทไธศวรรย์เป็นพระอารามหลวงที่ใหญ่โต มีชื่อเสียง และสำคัญที่สุดในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ พระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์กรุงศรีอยุธยา ปรากฏตามตำนานว่า พระองค์ทรงสร้างขึ้นในบริเวณที่ซึ่งเป็นที่ตั้งพลับพลาที่ประทับเมื่อทรงอพยพมาตั้งอยู่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ที่ตรงนี้มีชื่อปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า "ตำบลเวียงเล็ก" หรือในบางครั้งเพี้ยนไปเป็น "เวียงเหล็ก" เมื่อปี พ.ศ. 1896 ในบริเวณตำหนักเวียงเหล็ก ซึ่งเป็นที่ประทับแห่งแรกของพระองค์เมื่อครั้งอพยพผู้คนมาสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในปี พ.ศ. 1893 ต่อมาได้เกิดโรคระบาด พระองค์จึงทรงย้ายผู้คนมาสร้างพระราชวังใหม่ขึ้นใกล้หนองโสน (บึงพระราม) ในบริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดพระศรีสรรเพชญ์ ในปัจจุบัน ส่วนเวียงเหล็กนั้นได้สถาปนาเป็นวัดพุทไธศวรรย์ อันเป็นอนุสรณ์สถานแห่งแรกของการสร้างราชธานี ครั้นเมื่อสถาปนากรุงศรีอยุธยาแล้ว ถึง พ.ศ. 1896 จึงโปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นเป็นพระราชอนุสรณ์ ณ ตำบลซึ่งพระองค์เสด็จมาตั้งมั่นอยู่แต่เดิม และพระมหากษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาได้ยึดธรรมเนียมดังกล่าว โปรดให้สร้างถาวรวัตถุ เพิ่มเติมขึ้นอีกหลายอย่าง อนึ่ง เมื่อเสียกรุงฯ ในปี พ.ศ. 2310 วัดพุทไธศวรรย์ก็เป็นอีกวัดหนึ่งที่ไม่ได้ถูกพม่าทำลายเหมือนวัดอื่น ๆ จึงยังคงสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ปัจจุบันนี้จึงยังคงมีโบราณสถานให้ชมอีกมากมาย สิ่งที่น่าสนใจดังกล่าว ได้แก่ ปรางค์พระประธาน ซึ่งตั้งอยู่กลางอาณาเขตพุทธาวาสบนฐานไพที เป็นองค์ใหญ่ศิลปะแบบขอม มณฑปสองหลังซึ่งภายในมีพระประธาน พระอุโบสถทางด้านทิศตะวันตกของปรางค์ หมู่พระเจดีย์สิบสององค์ วิหารพระนอน ตลอดจนพระตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ประจำสมัยกรุงศรีอยุธยา ตำหนักนี้น่าสนใจเนื่องจากภายในผนังของตำหนักมีภาพสีเกี่ยวกับหมู่เทวดา นักพรต นมัสการพระพุทธบาท ตำหนักท้าวจตุคามรามเทพ ตลอดจนเรือสำเภา ครั้นพระพุทธโฆษาจารณ์เดินทางไปยังกรุงลังกา อนึ่ง พระตำหนักนี้ รวมถึงจิตรกรมฝาผนังเหล่านี้อยู่ในสภาพที่ค่อนข้ามทรุดโทรม ภาพวาดไม่ชัดเจนเท่าใด

เวลาเปิด-ปิด ทำการ : ทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น.
ที่ตั้ง : หมู่ที่ 8 ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000
พิกัด : https://goo.gl/maps/bDMmZLW1Wez5SFESA