Loading...

เที่ยวไปกับ ชิล สแควร์ ทราเวล
 เพื่อนเที่ยวเพื่อนคุณ 

Call Center : 094-545-3095

แจกทริปน่าเที่ยว 3 จังหวัด "น่าน แพร่ พิษณุโลก" สักการะ 3 สิ่งศักดิ์คู่บ้านคู่เมือง ที่คุณห้ามพลาด!!

04 ก.ค. 2563

ไทย ชมสถาปัตยกรรม, ศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่น, ชมพิพิธภัณฑ์สถานที่แนะนำ

วันหยุดนี้!! น้องชิลชวนเที่ยว 3 จังหวัดน่าเที่ยว ที่ต้องไปเยือน.. "น่าน แพร่ และพิษณุโลก" สักการะ 3 สิ่งศักดิ์คู่บ้านคู่เมือง ไหว้พระธาตุประจำปีเกิด 2 แห่งในทริปเดียว บอกเลยว่าคุ้ม!!

จังหวัดน่าน (Nan)

มาถึงจังหวัดน่านทั้งที ต้องไปเยือนวัดภูมินทร์เพื่อชมจิตรกรรม “ปู่ม่าน ย่าม่าน” ซึ่งเป็นภาพหญิงชายชาวไทลื้อสมัยโบราณอันทรงคุณค่าและมีเอกลักษณ์จนได้รับการขนานนามว่าเป็นภาพกระซิบบันลือโลก ไม่ไกลจากวัดภูมินทร์เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ซึ่งภายในจัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุของถิ่นล้านนา ส่วนด้านหน้าอาคารมีซุ้มต้นลีลาวดีขึ้นเป็นแถวแผ่ขยายกิ่งก้านโค้งเข้าหากันเป็นอุโมงค์ไว้ให้นักท่องเที่ยวได้มาแวะชมความสวยงามและถ่ายรูปเป็นที่ระลึก นอกจากนี้จังหวัดน่านยังมีวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร วัดพระธาตุเขาน้อย และวัดพระธาตุแช่แห้ง ที่ล้วนแล้วแต่เป็นปูชนียสถานสำคัญที่ควรค่าแก่การไปชมด้วยตาของตัวเอง ด้านสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติในจังหวัดน่านเองก็น่าประทับใจไม่แพ้กัน เหมาะสำหรับกิจกรรมกางเต็นท์นอนดูดาวยามค่ำคืนและตื่นมาชมพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า หากใครต้องการสัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้านแบบดั้งเดิม ที่จังหวัดน่านก็มีอำเภอเล็ก ๆ ที่เงียบสงบและโอบล้อมไปด้วยธรรมชาติอย่างอำเภอปัวและชุมชนบ่อเกลือ ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปได้สัมผัส เรียกได้ว่า ไม่ว่าจะเลือกเที่ยวแบบไหน เสน่ห์ของเมืองน่านก็จะทำให้คุณหลงใหลตรึงใจไปอีกนาน


- 1 -

วัดบุญยืน (Wat Bunyuen)

วัดบุญยืน

เสริมสิริมงคลกันในที่ วัดบุญยืน (Wat Bunyuen) วัดที่มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีต สมัยเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 56 เมื่อบ้านเมืองเกิดความไม่สงบหรือเกิดภัยธรรมชาติในเมืองน่านคราใด เจ้าผู้ครองนครน่านและประชาชนจะประกอบพิธีบวงสรวงสักการะบูชาพระธาตุเจดีย์วัดบุญยืน ซึ่งก่อให้เกิดขวัญกำลังใจต่อประชาชนได้เป็นอย่างดี และสมัยที่ยังมีเจ้าผู้ครองนครน่านนั้น ได้มีการประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาขึ้นในพระวิหารต่อหน้าพระพุทธปฏิมาปางประทับยืนองค์พระประธานตลอดมา สิ่งสำคัญภายในวัดบุญยืนพระอารามหลวง คือ พระประธานในพระวิหาร สร้างเป็นพระพุทธรูปปางประทับยืน เมื่อ พ.ศ. 2340 สมัยเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญเจ้าผู้ครองนครน่าน ในประวัติวัดบุญยืนกล่าวว่าเป็นปางเปิดโลก ลักษณะพระพุทธรูปปางเปิดโลกพระพุทธรูปปางนี้อยู่ในพระอิริยาบทยืน ห้อยพระหัตถ์สองข้างลงตามปกติ เหมือนประทับยืน แต่แบฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองออกไปข้างหน้าเป็นกริยาเปิด ที่ทำเป็นแบบยกฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นก็มี ตรงนี้ผิดกับพระประธานในวิหารวัดบุญยืน ซึ่งไม่แบฝ่าพระหัตถ์แต่อย่างใด เพียงปล่อยพระหัตถ์ไว้ที่ข้าง ๆ พระวรกายเท่านั้น และสิ่งที่น่าสนใจอีกหนึ่งอย่างคือประตูวิหารวัดบุญยืน ประกอบด้านบานประตูไม้สักแกะสลักลวดลายสามชั้น เป็นภาพพระอินทร์ประทับบนดอกบัว และพระพรหมประทับอยู่บนช้างเจ็ดเศียร ขอบด้านบนของบานประตูทั้งสองข้าง (ขวา-ซ้าย) มีจารึกโดยกล่าวถึงเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ พร้อมด้วยเจ้าสุมนเทวราช และเจ้าราชวงศ์เชียงของเป็นผู้แกะสลัก เมื่อ พ.ศ. 2350-2353 เป็นเวลา 3 ปี จึงแล้วเสร็จ มีความงดงามยิ่ง 

ที่ตั้ง: ตำบลกลางเวียง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน 55110
พิกัด: https://goo.gl/maps/mWwL5kmQkAUDDAua9



- 2 -

วัดมิ่งเมือง (Wat Ming Muang)

วัดมิ่งเมือง

สักการะเสาพระหลักเมืองน่าน ณ วัดมิ่งเมือง (Wat Ming Muang) ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นวัดใหม่จากเดิมที่เคยเป็นวัดร้าง โดยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าครองนครในตอนนั้น สำหรับตัวอุโบสถนั้นพระครูสิริธรรมภาณี ได้บูรณะใหม่ในปี พ.ศ. 2527 เนื่องจากทรุดโทรมเป็นอย่างมาก โดยตัวอาคารเป็นฝีมือของช่างพื้นบ้านของเมืองน่าน และงานลวดลายปูนปั้นเป็นฝีมือตระกูลช่างเชียงแสนที่มีความวิจิตรงดงามมาก ที่ต้องมายลสักครั้งในวัดมิ่งเมืองแห่งนี้ ภายในอุโบสถจะมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง สะท้อนวิถีชีวิตชาวเมืองน่านเขียนขึ้นจากฝีมือช่างท้องถิ่นยุคปัจจุบัน บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมา ตั้งแต่สมัยพญาภูคาเจ้าเมืองน่านองค์ปฐม ซึ่งเดิมศูนย์กลางอยู่ที่อำเภอปัวในปัจจุบัน ขณะเดียวกันเสาหลักเมืองซึ่งอยู่ในศาลาจตุรมุขด้านหน้าพระอุโบสถก็ควรค่าแก่การมาสักการะสักครั้ง โดยเสาหลักเมืองนี้สูงประมาณ 3 เมตร ฐานประดับด้วยไม้แกะลวดลายลงรักปิดทอง ยอดเสาแกะสลักเป็นรูปพรหมพักตร์มีชื่อ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา

ที่ตั้ง: 52 ถนนสุริยพงษ์ ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน 55000
พิกัด: https://goo.gl/maps/VxAhFayXVWz6YBhy7



- 3 -

วัดภูมินทร์ (Wat Phumin)

วัดภูมินทร์

หนึ่งในสถานที่โด่งดังที่สุดของจังหวัดน่าน กับภาพเสียงกระซิบรรลือโลก ณ วัดภูมินทร์ (Wat Phumin) วัดหลวงเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 400 ปี ด้วยลักษณะสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งนี้ประวัติการสร้างวัดภูมินทร์ตามพงศาวดารเมืองน่านได้กล่าวไว้ว่า พระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์เจ้าผู้ครองนครน่านได้สร้างวัดภูมินทร์ขึ้นมาหลังจากที่ครองนครน่านได้ 6 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2139 อีกทั้งยังมีปรากฏในคัมภีร์เมืองเหนือว่า วัดแห่งนี้เดิมชื่อ "วัดพรหมมินทร์" และต่อมาในภายหลัง ชื่อวัดได้เพี้ยนไปกลายเป็นวัดภูมินทร์ สถานที่ท่องเที่ยว สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดแห่งนี้คือ อาคารทรงจตุรมุขหนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาค 2 ตัว อาคารนี้เป็นทั้งพระอุโบสถ พระวิหาร และพระเจดีย์ประธาน โดยใช้อาคารในแนวตะวันออก-ตะวันตกเป็นพระวิหาร และอาคารแนวเหนือ-ใต้เป็นพระอุโบสถ ธนบัตรใบละ 1 บาท ที่รัฐบาลไทยเคยพิมพ์รูปวัดภูมินทร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารที่เรียกกันว่า "ฮูปแต้ม" ซึ่งได้เขียนขึ้นในช่วงที่วัดภูมินทร์ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ สมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เมื่อ พ.ศ. 2410 (ปลายสมัยรัชกาลที่ 4) และใช้เวลาซ่อมนานถึง 7 ปี โดยมีภาพ "ปู่ม่านย่าม่าน" อันลือเลื่อง ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นภาพงามเยี่ยมของวัดภูมินทร์ ทั้งยังได้รับฉายาว่า "ภาพกระซิบรักบรรลือโลก" นอกจากนี้ยังมีภาพน่าสนใจอยู่หลายภาพ เช่น ภาพธรรมเนียมการอยู่ข่วงของชาวไทลื้อ ภาพชาวพื้นเมือง ซึ่งอาจเป็นชาวเขา "เป๊อะ" ของป่าบนศีรษะ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกับคนเมือง ภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองน่าน ที่แสดงให้เห็นอิทธิพลตะวันตกที่เข้ามาผสมผสานในวิถีพื้นเมือง ภาพชาวต่างประเทศที่เข้ามาเมืองน่านช่วงรัชกาลที่ 5 โดยทรงผมและเครื่องแต่งกายของผู้หญิง เป็นรูปแบบเดียวกับที่กำลังเป็นที่นิยมในยุโรปขณะนั้น

ที่ตั้ง: ถนนผากอง ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน 55000
พิกัด: https://goo.gl/maps/GA9azCZP4gut2p4E8



- 4 -

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน (Nan National Museum)

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน (Nan National Museum) อาคารแบบยุโรปสีขาวที่ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองน่านหลังนี้ คือสถานที่บรรจุสมบัติล้ำค่าอันเป็นมรดกตกทอดของน่านจากอดีตสู่ปัจจุบัน เดิมทีที่นี่คือ "หอคำ" อันเป็นที่ประทับและว่าราชการของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน โดยสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2475 และใช้เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดแห่งแรกของจังหวัดน่าน ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 ได้รับการปรับปรุงอีกครั้งให้เป็นสถานที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน โดยภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ แบ่งออกเป็นสองชั้น พื้นที่ชั้นล่างเป็นที่จัดแสดงชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่าต่าง ๆ ในจังหวัดน่าน รวมทั้งเทศกาลงานประเพณีที่สำคัญของจังหวัด เช่น การสืบชะตา การแข่งเรือ ส่วนชั้นบนนั้น จัดแสดงโบราณวัตถุสมัยต่าง ๆ ที่พบในจังหวัดน่าน ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงยุคเจ้าผู้ครองนครน่าน โดยมีวัตถุโบราณที่น่าดูน่าชมอย่างยิ่ง ได้แก่ งาช้างดำซึ่งวัตถุมงคลคู่บ้านคู่เมืองน่าน เป็นงาช้างข้างซ้าย ยาว 94 เซนติเมตร วัดโดยรอบส่วนที่ใหญ่สุดได้ 47 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 18 กิโลกรัม ได้มาในสมัยพระยาการเมืองเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 5 ต่อมาเป็นเครื่องปั้นดินเผาเคลือบ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 จากเตาเผาบ่อสวก ตำบลสวก อำเภอเมือง จังหวัดน่าน อีกทั้งยังมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา อิทธิพลศิลปะพม่า พุทธศตวรรษที่ 25 และพานพระศรีเครื่องเงินลงยา เครื่องประกอบอิสริยยศของเจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย ปิดท้ายด้วยวัดที่เล็กที่สุดในเมืองไทย เป็นอันซีนที่หาชมได้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จุดที่น่าสนใจอีกอย่างในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านแห่งนี้ยังมีซุ้มลีลาวดีที่เรียงกันเป็นแนวยาว ให้ท่านได้บันทึกรูปกันอย่างตามอัธยาศัยถือเป็นอีกหนึ่งจุดที่คุณไม่ควรพลาดเมื่อมาเยือนค่ะ

ที่ตั้ง: 42 ถนนสุริยพงษ์ ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน 55000
พิกัด: https://goo.gl/maps/TP27MRsQWnNTmGg76



- 5 -

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร (Wat Phra That Chang Kham Voravihara)

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร (Wat Phra That Chang Kham Voravihara) เดิมเรียก "วัดหลวง" หรือ "วัดหลวงกลางเวียง" หนึ่งในวัดกลางเมืองน่านที่พลาดชมไม่ได้เด็ดขาด! ไม่ว่าจะเดินชม ปั่นจักรยานชม หรือนั่งรถรางชม ล้วนรื่นรมย์ไม่ต่างกัน วัดหลวงกลางเวียงแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยเจ้าปู่แข็ง พ.ศ. 1949 ถือเป็นวัดหลวง ที่เจ้าผู้ครองนครใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญทางพุทธศาสนา และพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาตามศิลาจารึกหลักที่ 74 ซึ่งถูกค้นพบภายในวัดนั่นเอง สถานที่น่าชม ได้แก่ เจดีย์ทรงลังกา (ทรงระฆัง) ได้รับอิทธิพลของสถาปัตยกรรมยุคสุโขทัย รอบฐานนั้นก่ออิฐถือปูนและปั้นเป็นรูปช้างครึ่งตัว ด้านละ 5 เชือก และมุมทั้งสี่อีก 4 เชือก ซึ่งคงเป็นที่มาของชื่อ "ช้างค้ำ" และลักษณะดังกล่าวนั้นมีความคล้ายกับวัดช้างล้อมของสุโขทัย ทั้งยังมีพระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี ประดิษฐานภายในพระวิหาร โดยเป็นพระพุทธรูปสำริดปางประทานอภัย สูง 145 เซนติเมตร อายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 19 ตรงกับสมัยสุโขทัยตอนปลาย มีส่วนผสมของทองคำ 65 % และพระประธานที่เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ศิลปะเชียงแสน ฝีมือสกุลช่างน่าน มีพุทธลักษณะงดงามยิ่งนัก

ที่ตั้ง: ถนนสุริยพงษ์ ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน 55000
พิกัด: https://goo.gl/maps/7UoDHS1JUP93qYcx5



- 6 -

โฮงเจ้าฟองคำ (The Noble House)

โฮงเจ้าฟองคำ

โฮงเจ้าฟองคำ (The Noble House) อาคารไม้สักหลังใหญ่สถาปัตยกรรมล้านนาที่มีอายุร่วม 200 ปี เคยเป็นที่อาศัยของเจ้าฟองคำ ผู้มีเชื้อสายของเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 62 ตัวบ้านแบ่งออกเป็น 4 หลัง โดยเชื่อมกันทุกหลัง สำหรับไม้สักที่ใช้สร้างบ้านใช้วิธีการผ่าและซ้อมถากด้วยขวานและมีด การประกอบตัวบ้านใช้วิธีเจาะไม้และเข้าไม้โดยใช้สลักไม้ ตัวอาคารได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทบ้านพักอาศัย (คุ้มเจ้า) ประจำปี พ.ศ. 2555 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ชั้นบนเป็นที่พักอาศัยและพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น จัดแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิตในอดีตและของโบราณที่มีคุณค่า เช่น เครื่องเงิน และผ้าทอพื้นเมือง สะท้อนวีถีชีวิตของชาวน่านได้เป็นอย่างดี

ที่ตั้ง: ถนนสุมนเทวราช ซอย 2 ตำบลเมืองน่าน อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน 55000
พิกัด: https://goo.gl/maps/XqZK1vTXDT1wMTf99



- 7 -

ตึกรังสีเกษม (Rangsri Kasem Building)

ตึกรังสีเกษม

แวะถ่ายรูป ณ ตึกรังสีเกษม (Rangsri Kasem Building) อีกหนึ่งอาคารเก่าแก่ที่ราวกับท่านได้ย้อนเวลากลับไปในอดีตด้วยบรรยากาศที่หาชมได้ยาก โดยตัวอาคารสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2458 โดยคณะมิชชันนารี เดิมมีชื่อว่า โรงเรียนเมริเอริสมิท บราวส์ ซึ่งสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ได้พระราชทานนามโรงเรียนใหม่ว่า โรงเรียนรังษีเกษม และกลายเป็นชื่อตึกรังษีเกษมในปัจจุบัน ถือเป็นอาคารสไตล์ตะวันตกอาคารยุคแรกของเมืองน่าน สำหรับสถาปัตยกรรมอาคารเป็นแบบสไตล์ตะวันตกยุคโคโลเนียล ขนาด 2 ชั้น รูปตัว U ด้านหน้าทาสีแดงอมม่วงเหมือนเปลือกมังคุด ก่อด้วยอิฐเพื่อความคงทนและแข็งแรง ส่วนพื้นและเพดานสร้างด้วยไม้ หลังคาเดิมเป็นกระเบื้องดินสอ แต่ถูกพายุพัดเสียหาย จึงเปลี่ยนเป็นกระเบื้องสังกะสีแทน ปัจจุบันตึกรังษีเกษมได้ถูดดัดแปลงเป็นอาคารหอประวัติศาสตร์ จัดแสดงโบราณวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้สมัยมิชชันนารี ทั้งขวานหิน ไห กระบวย ธนบัตร ตะเกียงเจ้าพายุ วิทยุเก่า และเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ มากมาย ตลอดจนภาพถ่ายเมืองน่านในอดีตกว่า 1000 ภาพ

ที่ตั้ง: 82 ถนนสุมนเทวราช ซอย 1 ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน 55000
พิกัด: https://goo.gl/maps/6hY1sERzVkia3bPU8



- 8 -

วัดพระธาตุแช่แห้ง (Wat Phra That Chae Haeng)

วัดพระธาตุแช่แห้ง

วัดพระธาตุแช่แห้ง (Wat Phra That Chae Haeng) ปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองน่าน ศูนย์รวมศรัทธาอันยิ่งใหญ่ของผู้คน โดยตั้งอยู่บนเนินทางฝั่งตะวันออกอันเป็นศูนย์กลางของเมืองน่านเดิม หลังจากที่ย้ายมาจากเมืองปัว และความสำคัญของพระธาตุแห่งนี้ยังเป็นพระธาตุประจำคนเกิดปีเถาะอีกด้วย เชื่อกันว่าหากได้เดินทางไป "ชุธาตุ" หรือนมัสการสักครั้งจะได้รับอานิสงส์อย่างยิ่งใหญ่ จุดที่น่าสนใจ ได้แก่ พระบรมธาตุแช่แห้งที่สร้างในสมัยเจ้าพระยาการเมือง (เจ้าผู้ครองนครน่านระหว่าง พ.ศ. 1869-1902) สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากเจดีย์พระธาตุหริภุญไชย ประดิษฐานพระมหาชินธาตุเจ้า 7 พระองค์ พระพิมพ์เงินและพระพิมพ์ทอง ที่ได้รับพระราชทานจากพระมหาธรรมราชาลิไท เมื่อครั้งที่เจ้าพระยาการเมืองเสด็จไปช่วยสร้างวัดหลวงอภัย (วัดป่ามะม่วง จังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. 1897 องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ทรงระฆังรอบองค์บุด้วยทองจังโก (ทองดอกบวบ ทองเหลืองผสมทองแดง) และมีทางขึ้นสู่องค์พระธาตุนั้นปั้นขึ้นเป็นตัวพญานาค ปูนปั้นลายนาคเกี้ยว อยู่ตรงหน้าบันเหนือประตูทางเข้าพระวิหาร อันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมเมืองน่าน วิหารพุทธไสยาสน์ อยู่ทางด้านหน้านอกกำแพงแก้วขององค์พระธาตุแช่แห้ง ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่มีพุทธลักษณะงดงาม

ที่ตั้ง: 89 ถนนมหาพรหม ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน 55000
พิกัด: https://goo.gl/maps/qD6wEENs2idqpYNh6



- 9 -

ถนนคนเดินกลางคืนเมืองน่าน (Nan Night Market)

ถนนคนเดินกลางคืนเมืองน่าน

ถนนคนเดินกลางคืนเมืองน่าน (Nan Night Market) หรือ กาดข่วงเมืองน่าน ที่จัดเต็มไปด้วยสินค้านานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า ของที่ระลึก อาหาร ที่เป็นสินค้าของชาวเมืองน่าน ให้ได้เลือกรับประทานอาหารได้อย่างอิสระ หากใครที่สนใจอยากจะลองทานขันโตกเมืองน่านก็สามารถหาทานได้ที่กาดข่วงแห่งนี้

ที่ตั้ง: ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน 55000
พิกัด: https://goo.gl/maps/bkJByAx9G32ga9qP9



- 10 -

วัดศรีพันต้น (Wat Sri Panthon)

วัดศรีพันต้น

วัดศรีพันต้น (Wat Sri Panthon) เป็นอีกหนึ่งวัดสำคัญในตัวเมืองน่าน สร้างโดยพญาพันต้น เจ้าผู้ครองนครน่านแห่งราชวงศ์ภูคา (ครองนครน่าน ระหว่าง พ.ศ. 1960 - 1969 ) ชื่อวัดที่ตรงกับนามผู้สร้าง คือพญาพันต้น บางสมัยเรียกว่า วัดสลีพันต้น (คำว่า สลี หมายถึง ต้นโพธิ์) ซึ่งในอดีตมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ด้านทิศเหนือและทิศใต้ของวัด ปัจจุบันถูกโค่นเพื่อตัดเป็นถนนแล้ว วัดศรีพันต้นได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2505 ภายในวัดมีวิหารที่สวยงาม ตั้งเด่นเป็นสง่ามีสีทองระยิบระยับ เป็นอีกวัดหนึ่งในจังหวัดน่านที่มีจิตรกรรมปูนปั้นที่สวยงามโดยเฉพาะพญานาคเจ็ดเศียรเฝ้าบันไดหน้าวิหารวัด สีทองเหลืองอร่ามสวยงามตระการตา มีความสวยงามและดูอ่อนโยนมีชีวิตชีวา ซึ่งปั้นแต่งโดยช่างชาวน่านชื่อ นายอนุรักษ์ สมศักดิ์ หรือ "สล่ารง" และภายในวิหารได้มีการเขียนภาพลายเส้นประวัติของพระพุทธเจ้าและประวัติการกำเนิดเมืองน่านโดยช่างชาวน่าน เป็นภาพเขียนลายเส้นลงสีธรรมชาติสวยงามและทรงคุณค่าอย่างยิ่ง นับเป็นอีกหนึ่งจุดที่ต้องแวะชม

ที่ตั้ง: ถนนเจ้าฟ้า ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน 55000
พิกัด: https://goo.gl/maps/x35RHgtV7BTa6uSy7



- 11 -

วัดพระธาตุเขาน้อย (Wat Phra That Khao Noi)

วัดพระธาตุเขาน้อย

วัดพระธาตุเขาน้อย (Wat Phra That Khao Noi) องค์พระธาตุตั้งอยู่บนยอดดอยเขาน้อย สร้างในสมัยเจ้าปู่แข็ง เมื่อปี พ.ศ. 2030 องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ เป็นศิลปะพม่าผสมล้านนา ภายในบรรจุพระเกศาธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดชฯ ระหว่างปี พ.ศ. 2449-2454 โดยช่างชาวพม่าและวิหารสร้างในสมัยนี้เช่นกัน วัดพระธาตุเขาน้อยเป็นปูชนียสถานที่สำคัญและเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดน่าน สันนิษฐานว่ามีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพระธาตุแช่แห้ง หน้าวัดมีทางขึ้นเป็นบันไดนาค 303 ขั้น จากวัดพระธาตุเขาน้อยสามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบของตัวเมืองน่าน ปัจจุบันบริเวณลานชมทิวทัศน์ ประดิษฐานพระพุทธมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางประทานพร บนฐานดอกบัวสูง 9 เมตร บนยอดพระเกศาทำจากทองคำหนัก 27 บาท สร้างขึ้นเนื่องในมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ฯ ทรงเจริญ พระชนมพรรษา 6 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542

ที่ตั้ง: 89 ถนนมหาพรหม ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน 55000
พิกัด: https://goo.gl/maps/7ZzZXMbPNBsWBi219



- 12 -

วัดศรีมงคล (Wat Sri Mongkol)

วัดศรีมงคล

วัดศรีมงคล (Wat Sri Mongkol) เป็นวัดเก่าแก่ที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2395 พระสงฆ์ที่มีชื่อที่สุดของวัดนี้คือ พระครูมงคลรังสี หรือหลวงปู่ครูบาก๋ง ที่เป็นที่เคารพของชาวบ้าน ด้านหลังวัดมีลานชมวิว ซึ่งมีทัศนียภาพที่งดงาม มองเห็นทุ่งนาเขียวขจี และทิวเขาของดอยภูคาเรียงรายสลับซับซ้อน โดยบริเวณลานชมวิวทางวัดได้จัดทำเป็นซุ้มและจุดชมวิวให้ถ่ายภาพหลายจุด รวมถึงร้านกาแฟบรรยากาศไทย ๆ ให้พักผ่อนหย่อนใจ ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ ทั้งวิหารหลวงที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันงดงาม โดยเลียนแบบการวาดของหนานบัวผัน จิตรกรชาวน่านเชื้อสายไทลื้อ ซึ่งวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดภูมินทร์และวัดหนองบัวของจังหวัดน่าน รวมถึงพิพิธภัณฑ์มงคลธรรมรังสี ซึ่งรวมรวมของโบราณต่างให้ได้ชม บรรยากาศโดยรอบของวัด เน้นตกแต่งแบบไทยล้านนา อนุรักษ์ของเก่าแก่ในอดีต ด้านหน้ายังเป็นที่ตั้งของกระท่อมไม้ไผ่ชื่อว่าเฮือนมะเก่า ภายในบ้านมีข้าวของเครื่องใช้โบราณ สามารถเข้าไปชมและถ่ายภาพได้

ที่ตั้ง: 59 หมู่ที่ 1 ตำบลยม อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน 55140
พิกัด: https://goo.gl/maps/7ZzZXMbPNBsWBi219



- 13 -

ร้านกาแฟไทลื้อ (Bantailue Cafe)

ร้านกาแฟไทลื้อ

ใช้ชีวิตแบบสโลวไลฟ์พร้อมดื่มเครื่องดื่มเติมความสดชื่นที่ ร้านกาแฟไทลื้อ (Bantailue Cafe) ร้านกาแฟที่ตั้งอยู่กลางทุ่งนาและขุนเขา ตัวร้านเป็นลักษณะบ้านแบบไทลื้อ และยังมีมุมจิบเครื่องดื่มหลาย ๆ จุด ซึ่งเก๋ไก๋ไม่ธรรมดา นอกจากนั้นท่านยังสามารถเลือกซื้อของที่ระลึก ผ้าทอไทลื้อ ผ้าทอน้ำไหลลายโบราณซื้อเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ของดีของเมืองปัวได้ที่ร้านลำดวนผ้าทอ

ที่ตั้ง: 164 หมู่ 4 ตำบลศิลาแลง อำเภอปัว จังหวัดน่าน 55120
พิกัด: https://goo.gl/maps/rNK564E8JRaTJYbw6


จังหวัดแพร่ (Phrae)

จังหวัดแพร่เป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อว่าเป็น "ประตูแห่งล้านนาตะวันออก" มีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่เก่าแก่และน่าสนใจมากมายให้นักท่องเที่ยวได้ไปสัมผัส นับตั้งแต่วัดพระธาตุช่อแฮ ซึ่งเป็นปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดแพร่มาอย่างช้านานและเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล ไปจนถึงสถาปัตยกรรมไทยผสมยุโรปที่ต้องหาโอกาสไปเยือน ถัดออกไปจากตัวเมืองของจังหวัดแพร่ยังมีสถานที่ที่น่าไปเที่ยวอีกมากมายรวมถึงไฮไลต์สำคัญที่ไม่ควรพลาด


- 14 -

วัดพระธาตุช่อแฮ (Phra That Cho Hae Temple)

วัดพระธาตุช่อแฮ

วัดพระธาตุช่อแฮ (Phra That Cho Hae Temple) เป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแพร่มาแต่โบราณ พระธาตุช่อแฮ หมายถึง เจดีย์บรรจุพระบรม สารีริกธาตุพระศอกซ้ายและพระเกศาธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและประดับบูชาด้วยผ้าแพรอย่างดี องค์พระธาตุช่อแฮเป็นเจดีย์ศิลปะเชียงแสน แบบแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองบุด้วยทองดอกบวบหรือทองจังโก องค์พระธาตุสูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร ลักษณะองค์พระธาตุตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม 1 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยม 3 ชั้นรองรับ ถัดไปเป็นฐานบัวคว่ำ และชุดท้องไม้แปดเหลี่ยมซ้อนลดชั้นกันขึ้นไป 7 ชั้น จากนั้นเป็นบัวระฆัง 1 ชั้น และหน้ากระดานหนึ่งชั้นจนถึง องค์ระฆัง แปดเหลี่ยมถัดขึ้นไปเป็นบัลลังค์ย่อมุมไม้สิบสองและปล้องไฉนส่วนยอดฉัตรประดับ ตกแต่งด้วยเครื่อง บนแบบล้านนา มีรั้วเหล็ก รอบองค์พระธาตุ 4 ทิศ มีประตูเข้าออก 4 ประตู แต่ละประตูได้สร้างซุ้มแบบปราสาทล้านนาไว้อย่างสวยงาม ทุกปีจะมีประเพณีการไหว้พระธาตุช่อแฮเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน เดิมจะจัด 5 วัน 5 คืน ได้เปลี่ยนแปลงเป็น 7 วัน 7 คืน วันแรกของงาน จะเริ่มขึ้นในวันขึ้น 9 ค่ำเดือน 6 เหนือ เดือน 4 ใต้ของทุกปี ซึ่งถือว่าการจัดงานไหว้พระธาตุช่อแฮยึดถือตามจันทรคติเป็นหลัก สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด คือ พระธาตุช่อแฮเป็นพระธาตุประจำปีเกิดปีเสือ (ปีขาล พระธาตุ 1 ใน 12 ราศี สำหรับคนที่เกิดปีเสือ (ปีขาล) หากนำผ้าแพรสามสีไปถวายจะทำให้ชีวิตมีพลังคุ้มครองป้องกันศัตรูได้ การสวดและไหว้ ให้เริ่มต้นนะโม 3 จบ แล้วสวดตามด้วยคาถาบูชาพระธาตุ 5 จบ พลังบารมีจะดลบันดาลให้มีชีวิตที่ดีขึ้น หลวงพ่อช่อแฮเป็นพระประธานประดิษฐานในพระอุโบสถ ศิลปะล้านนา เชียงแสน สุโขทัย พระเจ้าทันใจหรือหลวงพ่อทันใจ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิปูนปั้น ลงรักปิดทอง พระพุทธโลกนารถบพิตร และวิหารศิลปะล้านนาประยุกต์เป็นพระพุทธรูปปางพระนาคปรก ประดิษฐานอยู่ในวิหารศิลปะลานนาประยุกต์ ภายในมีภาพจิตกรรมฝาผนังอย่างสวยงาม สร้างขึ้น ในปี 2534 โดยมีเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร ป.ธ.9) พระเจ้านอนเป็นพระพุทธรูปที่ชาวจังหวัดแพร่เคารพนับถือ ก่อนจะขึ้นไหว้องค์พระธาตุช่อแฮ ชาวบ้านมักจะแวะไหว้พระเจ้านอนก่อนเสมอ สร้าง เมื่อขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เหนือ พ.ศ. 2459 เป็นพระเจ้านอนศิลปะพม่า ธรรมมาสน์โบราณ มีความสวยงามวิจิตรบรรจง ลวดลายไทยผสมศิลปะทางล้านนา กรุอัฐิครูบาศรีวิชัยบรรจุอัฐิธาตุส่วนที่ 5 จากจำนวน 7 ส่วนของครูบาศรีวิชัย บันไดนาคโบราณภายในวัดพระธาตุช่อแฮมีบันไดนาค อยู่ 4 ด้าน และบันไดสิงห์ 1 ด้าน รวม 5 บันได ซึ่งล้วนมีความยาวและจำนวนขั้นไม่เท่ากัน เจ้ากุมภัณฑ์มีความเชื่อว่า นาคที่เฝ้าบันไดกุมภัณฑ์ ด้านทิศตะวันออกขององค์พระธาตุช่อแฮ ชอบหนีออกไปเล่นน้ำที่ลำน้ำแม่สาย หมู่บ้านใน เป็นประจำ ชาวบ้านจึงสร้างเจ้ากุมภัณฑ์นั่งทับขดหางนาคไว้ เพื่อมิให้หนีไปเล่นน้ำอีก 

ที่ตั้ง: 1 หมู่ 11 ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ 54000
พิกัด: https://goo.gl/maps/oc8mGq4dPCRskVzdA